รู้จักกับ ไฮสโคป แนวการสอนเพื่อพัฒนาเด็กอนุบาลเน้นการลงมือทำ จากข่าวที่ออกมาว่าทางสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้มีการผลักดันให้
โรงเรียนอนุบาลหันมาใช้แนวคิด “ไฮสโคป (High Scope)” เข้ามาประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอน โดยมีการนำร่องไปแล้วถึง 19 แห่ง
แล้วแนวคิดไฮสโคปที่เค้าพูดถึงกันนั้นคืออะไร ต้องมีสภาพแวดล้อมอย่างไรบ้าง แล้วเด็กๆ ที่ได้เรียนภายใต้แนวคิดนี้จะรับอะไรดีๆ กลับมา เรามาทำความรู้จักกับไฮสโคปให้มากขึ้นกันค่ะ
ไฮสโคป (High Scope)แนวการสอนที่จัดการเรียนรู้แบบเน้นการลงมือทำผ่านการเล่นกิจกรรมที่หลากหลาย โดยมีสื่อและการจัดกิจกรรมที่เหมาะสมกับพัฒนาการของเด็กเป็นตัวช่วย ตัวเด็กเองจะเป็นผู้เลือกกิจกรรมการเล่นต่างๆ ด้วยตัวเองอย่างอิสระ
สอดคล้องไปกับทฤษฎีพัฒนาการทางสติปัญญาของเพียเจท์ (Piaget’s Theory) ที่ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ด้วยการลงมือปฏิบัติ ซึ่งตัวเด็กนั้นสามารถสร้างความรู้ได้เอง โดยใช้กระบวนการสร้างสรรค์การเรียนรู้ผ่านการกระทำของตน และการประเมินผลงานอย่างมีแบบแผน
หลักการสอนแบบไฮสโคป (High Scope)เน้นหลักการปฏิบัติ 3 ประการ
การวางแผน (Plan)เป็นการกำหนดแนวทางกิจกรรมโดยยึดตามความสนใจร่วมกันของครูและเด็กทุกๆ คน ซึ่งเป็นกระะบวนการที่ให้ความสำคัญกับเด็กในการการเลือกและตัดสินใจ
การลงมือทำ (Do)ลงมือทำตามแผนที่ได้วางไว้ เด็กๆ จะได้ร่วมกันคิด แก้ปัญหา ตัดสินใจและทำงานด้วยตัวเอง โดยมีความร่วมมือจากเพื่อนๆ อย่างอิสระ ภายในเวลาที่ได้กำหนดไว้และมีคุณครูคอยให้คำแนะนำในจังหวะที่เหมาะสม ทำให้เด็กๆ มีพัฒนาการทางการพูด รวมถึงมีปฏิสัมพันธ์ทางสัมคมมากขึ้น
การทบทวน (Review)เด็กๆ จะต้อง เล่าถึงผลงานที่ตนเองได้ลงมือทำ เพื่อทบทวนว่าได้ทำตามแผนที่วางไว้หรือไม่ ได้ผลลัพธ์อย่างไร เป็นการฝึกให้เด็กรู้จักการเชื่อมโยงกางวางแผนและการลงมือทำเข้าด้วยกัน และได้ประสบการณ์ที่ตนเองได้พบเจอระหว่างทางด้วย
ไฮสโคป (High Scope) ต้องการสภาพแวดล้อมแบบไหนสภาพแวดล้อมและบรรยากาศที่เหมาะสมไฮสโคป (High Scope) จะเป็นลักษณะที่เอื้อต่อการการเรียนรู้ มีความไหลลื่นของกิจกรรม กระตุ้นให้เด็กรู้สึกกระตื้อรือล้น โดยแบ่งออกได้หลักๆ ดังนี้
พื้นที่ทำกิจกรรมต้องการพื้นที่สำหรับทำกิจกรรมกลุ่มเน้นความร่วมมือ รวมถึงมีมุมต่างๆ แยกตามหมวดหมู่ เช่น มุมศิลปะ, มุมหนังสือ, มุมวิทยศาสตร์
อุปกรณ์สื่อการเรียนต้องมีอุปกรณ์และสื่อต่างๆ ที่หลากหลาย ช่วยให้เด็กสามารถเรียนรู้พัฒนาแผนการทำงานและลงมือทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การจัดเก็บที่เหมาะสมถือเป็นส่วนหนึ่งของวงจรการเรียนรู้ “ค้นหา-ใช้-เก็บคืน” การจัดวางอุปกรณ์ต่างๆ ให้เข้าที่และเป็นระเบียบ ทำให้ค้นหาได้ง่าย เด็กๆ สามารถหยิบมาใช้และเก็บคืนได้เอง ฝึกให้เด็กรู้จักการสังเกต มีความรับผิดในสิ่งต่างๆ
ประโยชน์ของไฮสโคป (High Scope)สอนให้เด็กมีสังคมที่ดี
เด็กจะมีปฏิสัมพันธ์เชิงบวกกับผู้อื่น เริ่มจากคุณครูที่สร้างความไว้ใจให้กับเด็ก เพื่อให้สามารถลงมือทำกิจกรรมด้วยความสนุกและเต็มใจ
รู้จักการวางแผน และการทำงานเป็นระบบจากหลักการไฮสโคป (High Scope) ที่เด็กได้เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการวางแผนทำให้ได้รู้จักการทำงานอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เป็นการฝึกกระบวนการคิดที่ดี
มีความสุขการได้ลงมือทำด้วยตัวเองตั้งแต่ขั้นตอนแรกจนสำเร็จ มีการทบทวนกระบวนการทำงานต่างๆ ทำให้เด็กเกิดความภาคภูมิใจในตนเอง อีกทั้งความสำเร็จจากการทำงานก็สร้างความสุขให้เกิดขึ้นในจิตใจได้
อ่านบทความเพิ่มเติม : https://www.alleduguide.com