ภาษีรถยนต์ คืออะไร แล้วต่างกับ พ.ร.บ. อย่างไร
ภาษีรถยนต์ คืออะไร ทำไมต้องทำ
ภาษีรถยนต์ คือ ค่าภาษีที่เจ้าของรถยนต์ทุกคนต้องจ่ายให้รัฐเป็นประจำทุกปี โดยภาษีที่เราจ่ายไปนี้ ทางหน่วยงานของรัฐจะนำไปใช้ในการพัฒนาปรับปรุงเส้นทางการคมนาคมต่อไป ดังนั้นเจ้าของรถจึงต้องทำการต่อภาษีรถยนต์ หรือต่อทะเบียนรถยนต์ เป็นประจำทุกปี หากล่าช้าจะถูกปรับได้
“การต่อภาษีรถยนต์” หรือ “การต่อทะเบียนรถยนต์” ถือเป็นสิ่งที่เจ้าของรถต้องทำตามกฎหมาย หากมีรถยนต์ไว้ในครอบครอง เพราะนี่ถือเป็นสิ่งที่จะครอบคลุม ช่วยเหลือแบ่งเบาภาระแก่เจ้าของรถและบุคคลที่สาม หากเกิดความเสียหายจากรถยนต์ที่ถือครอง
แล้วพ.ร.บ. รถยนต์ คืออะไร
พ.ร.บ. รถยนต์ หรือ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ คือประกันรถยนต์ภาคบังคับ ที่กฎหมายบังคับให้รถยนต์ทุกคันต้องทำ พ.ร.บ. เป็นประกันขั้นพื้นฐานที่ทุกคันต้องมี เพื่อความคุ้มครองต่อความสูญเสียของชีวิต ร่างกาย และผู้ประสบภัยจากรถยนต์ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ เช่น ค่ารักษาพยาบาลเบื้องต้น และค่าชดเชยการเสียชีวิต เป็นต้น แต่ว่า วงเงินเอาประกันภัยของ พ.ร.บ. นั้นค่อนข้างน้อย ไม่ครอบคลุมค่าเสียหายของรถยนต์ รวมถึงกรณีที่พังจนใช้งานไม่ได้และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ทำให้คนส่วนมาก นิยมทำประกันภัยภาคสมัครใจร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็นประกันชั้น 1, 2+, 3+ หรือ 3 เพื่อความคุ้มครองที่ครอบคลุมกว่า
ถ้าคุณเป็นเจ้าของรถหรือแม้แต่เช่ารถ คุณจะต้องซื้อ พ.ร.บ.ตามกฎหมายกำหนดรวมทั้งผู้ขับขี่ทุกคนต้องต่ออายุประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับทุกปี จึงจะสามารถต่ออายุภาษีรถยนต์ประจำปีได้นั่นเอง
ต่อภาษีรถยนต์ ต้องต่อตอนไหน
ส่วนใหญ่แล้วการต่อภาษีรถยนต์ จะสามารถทำไปพร้อมกับการต่อ พ.ร.บ. รถยนต์ ประจำปีได้เลย เพราะเจ้าของรถจะเสียภาษีหรือต่อทะเบียนรถยนต์ ได้ก็ต่อเมื่อทำการ ต่อ พ.ร.บ. รถยนต์เรียบร้อยก่อนแล้วเท่านั้น หลังจากที่เจ้าของรถได้รับเอกสารกรมธรรม์ พ.ร.บ. รถยนต์ ขนาด A4 ที่ออกโดยบริษัทประกันภัยเรียบร้อยแล้ว ส่วนล่างสุดของเอกสาร พ.ร.บ. รถยนต์ จะใช้สำหรับต่อภาษีนั่นเอง
เมื่อคุณจ่ายภาษีเรียบร้อยแล้ว คุณจะได้รับแผ่นป้ายสี่เหลี่ยมสำหรับติดหน้ารถ เพื่อยืนยันว่ารถยนต์คันนี้ต่อได้ทำการต่อภาษีรถยนต์ และต่อ พ.ร.บ. รถยนต์ เรียบร้อยแล้ว
การต่อภาษีรถยนต์นั้นบังคับให้ทำทุกปี โดยสามารถต่อล่วงหน้าได้ก่อนทะเบียนหมดอายุไม่เกิน 3 เดือน หากชำระล่าช้า คุณจะถูกปรับ 1% ต่อเดือนของค่าต่อทะเบียน และหากขาดการเสียภาษีติดต่อกัน 3 ปีขึ้นไป รถยนต์คั้นนั้นจะถูกระงับทะเบียนและต้องทำเรื่องขอจดทะเบียนใหม่จากกรมการขนส่งทางบก คุณต้องคืนแผ่นป้ายทะเบียนเดิม และจะต้องเสียภาษีย้อนหลังตามจำนวนปีที่ไม่ได้เสียภาษีอีกด้วย ยุ่งยากแค่ไหนคงไม่ต้องบอก
ต่อภาษีรถยนต์ต้องทำยังไง
การต่อภาษีรถยนต์หรือต่อทะเบียนรถยนต์ทำได้ไม่ยาก ทำได้ทั้ง walk-in และแบบออนไลน์
ต่อภาษีแบบ walk-in
ถ้าคุณต้องการเดินทางไปต่อเอง คุณสามารถต่ออายุภาษีรถยนต์ของคุณในแต่ละปีได้ที่สำนักงานในพื้นที่ของกรมการขนส่งทางบก โดยเตรียมเอกสารไปให้พร้อม ได้แก่
สมุดทะเบียนรถเล่มสีน้ำเงินพร้อมสำเนา
พ.ร.บ. ฉบับปัจจุบันที่ยังไม่หมดอายุ
ใบรับรองการตรวจสภาพรถ สำหรับรถยนต์อายุการใช้งานมากกว่า 7 ปี (ค่าใช้จ่าย 150 บาท/คันรถยนต์น้ำหนักไม่เกิน 1,600 กิโลกรัม หากน้ำหนักเกินนี้ค่าใช้จ่ายคันละ 250 บาท) นับจากวันที่จดทะเบียน สามารถตรวจสมรรถนะการใช้งานได้ที่กรมขนส่งทางบก หรือสถานตรวจสภาพรถเอกชน (ตรอ.)
เงินค่าภาษี
โดยช่วงวันหยุดเสาร์อาทิตย์ก็ยังสามารถไปได้ เพราะตอนนี้กรมการขนส่งทางบกอนุญาตให้เราไปต่อทะเบียนรถได้ที่ ห้างบิ๊กซี เซนทรัลรามอินทรา เซ็นทรัลเวิลด์ และพาราไดซ์ พาร์ค โดยคุณสามารถเช็คสาขาที่มีระบุไว้ว่ารับจ่ายค่าต่อทะเบียนรถจากเว็บไซต์ของทางกรมขนส่งได้เลย
ต่อภาษีรถยนต์ออนไลน์
สำหรับคนที่ไม่มีเวลา ไม่สะดวกเดินทางไปเอง ปัจจุบันมีช่องทางการต่อภาษีรถยนต์ออนไลน์เพิ่มอีกหนึ่งช่องทาง ช่วยเพิ่มความสะดวกสบาย ให้คุณต่อภาษีรถยนต์ได้ทุกที่ทุกเวลา
โดยคุณจะต้องทำการลงทะเบียนทางเว็บไซต์ กรอกข้อมูลใหม่ก่อนทำเรื่องต่อภาษีรถยนต์ ออนไลน์ และสามารถเลือกชำระผ่านการหักบัญชีธนาคาร หรือบัตรเครดิตก็ได้ โดยเลือกชำระว่าจะให้หักผ่านบัญชีธนาคาร หรือบัตรเครดิต โดยคุณสามารถสามารถดูขั้นตอนการต่อภาษีรถยนต์ ออนไลน์ผ่านทางคู่มือนี้ได้เองง่ายๆ
หลังชำระเงินแล้ว กรมการขนส่งจะส่งหลักฐานการต่อภาษีรถยนต์ให้เราตามที่อยู่ที่เราได้ลงทะเบียนไว้ ภายใน 7 วัน และไม่เกิน 15 วันทำการ ซึ่งคุณสามารถติดตาม ตรวจสอบสถานะจัดส่งของพัสดุจากในระบบได้เลย
วิธีคำนวณภาษีรถยนต์ แบบง่ายๆ ที่ผู้ใช้รถควรรู้
อัตราการเสียภาษีรถยนต์นั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ประเภทรถ รุ่นรถ ขนาดเครื่องยนต์ (cc) น้ำหนักรถ หรืออายุรถ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะนำมาเป็นตัวกำหนดว่าเราต้องเสียภาษีประจำปีละเท่าไร โดยวิธีคำนวณภาษีรถยนต์ต่างๆ มีรายละเอียดดังนี้
รถป้ายทะเบียนพื้นขาวตัวหนังสือดำ
รถป้ายทะเบียนพื้นขาวตัวหนังสือดำ หรือรถปกติทั่วไป คือ รถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่ไม่เกิน 7 ที่นั่ง เช่น รถกระบะ 4 ประตู รถเก๋ง เป็นต้น การคำนวณภาษีรถจะขึ้นอยู่กับขนาดเครื่อง (cc) โดยรายละเอียดมีดังนี้
1600 cc คิด cc ละ 50 สตางค์
1601-1800 cc คิด cc ละ 50 บาท
1801 cc ขึ้นไป คิด cc ละ 4 บาท
ส่วนรถยนต์ที่มีอายุการใช้งานตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไปก็จะมีส่วนลดค่าภาษีดังนี้
อายุการใช้งานเกิน 6 ปี จะได้รับส่วนลดค่าภาษี 10%
อายุการใช้งานเกิน 7 ปี จะได้รับส่วนลดค่าภาษี 20%
อายุการใช้งานเกิน 8 ปี จะได้รับส่วนลดค่าภาษี 30%
อายุการใช้งานเกิน 9 ปี จะได้รับส่วนลดค่าภาษี 40%
อายุการใช้งานเกิน 10 ปี จะได้รับส่วนลดค่าภาษี 50%
***ปีที่ 11 เป็นต้นไป ภาษีเท่ากับปีที่ 10
ตัวอย่าง การคำนวณภาษีรถยนต์ ลองคำนวณค่าภาษีรถล่วงหน้าไว้ก่อน เพื่อที่จะได้เตรียมเงินให้พร้อม
รถยนต์ ยี่ห้อ BMW รุ่น 330 อายุรถ 8 ปี เครื่องยนต์ 2,979 cc
ช่วง 600 cc แรก / cc ละ 0.5 สตางค์ = 600 x 0.5 = 300 บาท
ช่วง 601-1800 cc / cc ละ 1.50 บาท = (1,800 – 600) = 1200 x 1.50 = 1,800 บาท
ส่วนที่เกินจาก 1800 cc / cc ละ 4 บาท = (2,979 – 1,800) x 4 = 1179 x 4.00 = 4,716 บาท
รวมค่าภาษีทั้งหมดที่ต้องจ่าย = 300 + 1,800 + 4,716 บาท = 6,816 บาท
หักส่วนลดค่าภาษี 30% : คงเหลือที่ต้องจ่าย = 4,771.2 บาท
***หากเสียภาษีช้าต้องเสียค่าปรับ 1% ต่อเดือน (เศษของวันนับเป็น 1 เดือน)
รถป้ายทะเบียนพื้นขาวตัวหนังสือเขียว
รถป้ายทะเบียนพื้นขาวตัวหนังสือเขียว คือ รถบรรทุกส่วนบุคคลที่เกิน 7 ที่นั่ง การคำนวณภาษีจะขึ้นอยู่กับน้ำหนักรถ มีรายละเอียดดังนี้
น้ำหนักรถ 501- 750 กิโลกรัม – อัตราภาษี 450 บาท
น้ำหนักรถ 751 – 1000 กิโลกรัม – อัตราภาษี 600 บาท
น้ำหนักรถ 1001 – 1250 กิโลกรัม – อัตราภาษี 750 บาท
น้ำหนักรถ 1251 – 1500 กิโลกรัม – อัตราภาษี 900 บาท
น้ำหนักรถ 1501 – 1750 กิโลกรัม – อัตราภาษี 1,050 บาท
น้ำหนักรถ 1751 – 2000 กิโลกรัม – อัตราภาษี 1,350 บาท
น้ำหนักรถ 2001 – 2500 กิโลกรัม – อัตราภาษี 1,650 บาท
รถป้ายทะเบียนพื้นขาวตัวหนังสือน้ำเงิน
รถป้ายทะเบียนพื้นขาวตัวหนังสือน้ำเงิน คือ รถยนต์ส่วนบุคคลเกิน 7 ที่นั่ง การคำนวณภาษีจะขึ้นอยู่กับน้ำหนักรถ แต่จะมีการคิดอัตราภาษีแตกต่างจากแบบรถบรรทุก รายละเอียดดังนี้
น้ำหนักรถไม่เกิน 1800 กิโลกรัม – อัตราภาษี 1,300 บาท
น้ำหนักรถเกิน 1800 กิโลกรัม – อัตราภาษี 1,600 บาท
ผิดกฎหมายหรือไม่หากไม่ต่อภาษีรถยนต์
ผิดแน่นอน เพราะรถที่ไม่ต่อภาษีคือรถที่ “ทะเบียนขาด” ก็เท่ากับว่า พ.ร.บ. ขาดเช่นกัน หากถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับจะถูกดำเนินคดีกฎหมาย คือ
ขาดต่อทั้งทะเบียนหรือภาษีรถยนต์และ พ.ร.บ. ถูกปรับ 20,000 บาท
รถที่ไม่มี พ.ร.บ. มีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท
ใช้รถไม่จดทะเบียนมีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท
ใช้รถที่ไม่แสดงป้ายเครื่องหมายเสียภาษีมีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท
และหากรถคันใดค้างชำระภาษีเกิน 3 ปี จะถูกระงับทะเบียนทันที
ป้ายเสียภาษีรถยนต์หาย ต้องทำอย่างไร
เราจะได้รับป้ายสี่เหลี่ยม (ในวงกลม) หรือป้ายแสดงการเสียภาษีรถยนต์ ออกโดยการขนส่งทางบก หลังจากต่อพ.ร.บ.รถยนต์ พร้อมกับทำการจ่ายภาษีรถยนต์ประจำปีแล้วเสร็จ ซึ่งเราต้องเปลี่ยนป้ายนี้กันทุกๆ ปี
เจ้าของรถจะต้องแสดงเอกสารดังกล่าวให้ชัดเจนบนกระจกหน้ารถยนต์ มิฉะนั้นจะถูกเจ้าหน้าที่จับปรับไม่เกิน 2,000 บาท แต่ถ้ากรณีป้ายนี้หายไป ต้องดำเนินการขอใหม่ตามขั้นตอนดังนี้
แจ้งความลงบันทึกประจำวันกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เป็นหลักฐานป้องกันมิให้บุคคลอื่นนำป้ายของคุณไปแอบอ้างและกระทำผิดกฎหมาย
เตรียมหลักฐานขอป้ายใบใหม่ ประกอบด้วย
หนังสือแสดงการจดทะเบียนรถ หรือสมุดจดทะเบียนรถยนต์เล่มสีน้ำเงิน (ตัวจริงพร้อมสำเนา) หากเป็นรถติดไฟแนนซ์ต้องแจ้งให้บริษัทฯ ไฟแนนซ์ดำเนินการขอป้ายวงกลมให้เรา
พ.ร.บ. ฉบับปัจจุบันที่ยังไม่หมดอายุ
ใบรับรองการตรวจสภาพรถ
สำเนาใบแจ้งความ หรือสำเนาบันทึกประจำวันจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือบันทึกถ้อยคำไว้เป็นหลักฐานกับนายทะเบียน
บัตรประจำตัวประชาชนเจ้าของรถพร้อมสำเนา
ยื่นคำขอที่กรมขนส่งทางบก ในจังหวัดที่เราจดทะเบียน ชำระอัตราค่าธรรมเนียม 25 บาท
รอรับเอกสาร เวลาจัดทำเอกสารใหม่และเวลาดำเนินงานอีกประมาณ 1 ชั่วโมง คุณก็จะได้ป้ายวงกลมติดรถกลับมาเรียบร้อย
ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม คุณไม่ควรขับรถที่ไม่มีประกันเด็ดขาด ทางที่ดีคุณควรต่อ พ.ร.บ. และเสียภาษีหรือต่อทะเบียนรถยนต์ล่วงหน้าไว้เลย ไม่จำเป็นต้องรอให้ใกล้วันหมดอายุ หรือหมดแล้วค่อยไปต่อ ซึ่งไม่อาจรู้เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าอยากสะดวกสบายสุดๆ ล่ะก็ EasyCompare
https://www.easycompare.co.th/car-insurance/insurance-type-1 สามารถช่วยคุณต่อ พ.ร.บ. และประกันภัยรถยนต์ ได้ล่วงหน้าถึง 6 เดือนเลยทีเดียว เพื่อความอุ่นใจในการขับขี่ เช็คเบี้ยประกันภัยรถยนต์ทุกชั้น กับเราวันนี้เลย