นวัตกรรมและโซลูชั่นสำหรับสินค้าแช่เยือกแข็ง
เครื่องละลายสินค้าแช่เยือกแข็งด้วยสนามไฟฟ้า เป็นนวัตกรรมแรกที่ได้รับการวิจัยและพัฒนาขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ของลูกค้าในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม จากปัญหาหลักในด้านความสูญเสียจากการละลายสินค้าแช่เยือกแข็ง
ในอุตสาหกรรมการผลิตอาหาร สินค้าแช่เยือกแข็งจัดเป็นวัตถุดิบที่จำเป็น ซึ่งเป็นกระบวนการขั้นต้นเมื่อนำวัตถุดิบแช่เยือกแข็งมาทำการเพิ่มอุณหภูมิเพื่อให้พร้อมนำไปใช้ในกระบวนการถัดไป ไม่ว่าจะเป็น การนำไปนึ่ง นำไปแปรรูปก่อนนำไปบรรจุ การเพิ่มอุณหภูมิจากสภาวะแช่เยือกแข็งจาก -18 ถึง -20 องศาเซลเซียส ให้เป็น -3 ถึง 0 องศาเซลเซียส หรือที่นิยมเรียกว่า “การละลาย” (Thawing) มีหลากหลายวิธีที่ใช้กันแพร่หลายในครัวเรือน หรือในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ คือ การใช้การแลกเปลี่ยนความร้อนระหว่างน้ำ กับสินค้าแช่เยือกแข็ง ในรูปแบบของการใช้น้ำหมุนเวียน (Water Circulation) วิธีการดังกล่าวง่ายต่อการจัดการจึงเป็นที่นิยมมานานหลายปี แต่มีผลเสียตามมาโดยทำให้เกิดการสูญเสีย (Loss and Waste) ในหลายมิติ ได้แก่ คุณภาพของสินค้าแช่เยือกแข็ง ความเสียหายที่เกิดขึ้นในกระบวนการถัดไป การสูญเสียน้ำหนัก (Weight Loss) หรือที่นิยมในการอ้างอิงคือ ผลประกอบการ (% Yield) การสิ้นเปลืองทรัพยากรไฟฟ้า (Energy Loss) การสิ้นเปลืองแรงงาน (Labor Loss) ความเสี่ยงต่อการปนเปื้อน (Contamination Risk) และการสูญเสียทางอ้อม อันได้แก่ การเพิ่มภาระให้กับการบำบัดน้ำเสีย (Waste Water COD Load) สภาพสุขอนามัย และความปลอดภัยของโรงงาน (Plant GMP and Safety)
หากพิจารณาทีละมิติ ก็จะพบว่าความสูญเสีย หรือความสิ้นเปลือง เกิดเนื่องจากปัจจัยใด ขอยกตัวอย่างในอุตสาหกรรมการแปรรูปทูน่า ดังนี้
1. คุณภาพของสินค้าแช่เยือกแข็ง การนำปลาทูน่าแช่เยือกแข็ง มาละลายโดยใช้น้ำหมุนเวียน จะพบว่าปลาทูน่าจะต้องแช่ในน้ำที่มีอุณหภูมิสูงอยู่ตลอดเวลาในการละลาย เนื้อด้านนอกสุดจะมีอุณหภูมิสูงขึ้นขณะที่ เนื้อที่อยู่แกนกลาง (Back bone) ยังคงมีอุณหภูมิที่ต่ำ สภาพของสินค้าจะอยู่ในสภาพกึ่งนิ่ม กึ่งแข็ง นอกจากนี้ ปลาแต่ละตัวก็จะมีอุณหภูมิที่แตกต่างกัน
2. ความเสียหายที่เกิดขึ้นในกระบวนการถัดไป จากผลของการละลายแบบใช้น้ำหมุนเวียน และเมื่อนำปลาทูน่าไปสู่กระบวนการถัดไป ได้แก่ การนำไปชำแหละ (Butchering) และ การนำไปนึ่ง (Cooking) ด้วยสภาพปลาข้างต้น ระหว่างการนำไปชำแหละอุณหภูมิที่แตกต่างกันจะทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะมีสารภูมิแพ้ (Histamine) เกิดขึ้นบนเนื้อปลาหากมีอุณหภูมิสูงเกินกว่า 4 องศาเซลเซียส นอกจากนี้ เมื่อนำปลาที่อุณหภูมิแตกต่างกันทั้งในตัวปลาเอง และปลาแต่ละตัวในหม้อนึ่ง (Cooker) จะทำให้เกิดสภาพปลาที่สุกแตกต่างกัน หรือที่เรียกว่า สภาพที่สุกเกิน และ ยังไม่สุก (Over and Under Cooked) ถึงแม้โรงงานจะมีหม้อนึ่งที่มีคุณสมบัติ และฟังก์ชั่นการทำงานที่ซับซ้อนเท่าไรก็ยังคงไร้ประโยชน์
3. การสูญเสียน้ำหนัก ในการละลายปลาแบบใช้น้ำหมุนเวียน และไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิของน้ำได้ในระหว่างการละลาย ย่อมทำให้ปลาทูน่าสูญเสียน้ำในตัวปลา ซึ่งมีผลให้เนื้อปลาที่ได้มาขาดคุณภาพไม่ว่าจะเป็นทางกายภาพ หรือ ทางเคมี หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า Drift Loss นั่นเอง และยังส่งผลมากที่สุดต่อผลประกอบการ (% Yield) ที่ลดลง หรือต่ำนั่นเอง
4. การสิ้นเปลืองทรัพยากรไฟฟ้า การทำให้น้ำหมุนเวียนผ่านปลาทูน่าที่นำมาละลายต้องอาศัยการใช้ปั๊มน้ำเพื่อสูบ และส่งน้ำให้ไหลตลอดระยะเวลาการละลาย การใช้ไฟฟ้าก็จะประมาณ 0.72 – 1.4 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง หากกำลังการผลิตยิ่งสูง การใช้ไฟฟ้าก็จะสูงตามไปด้วย ทั้งนี้อัตราการผลิตโดยทั่วไปจะไม่น้อยกว่า 50 – 800 ตัน ต่อวัน ยังไม่รวมถึงค่าซ่อมบำรุงปั๊ม และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง
5. การสิ้นเปลืองแรงงาน กระบวนการละลายปลาทูน่าแบบใช้น้ำหมุนเวียน นอกจากการลำเลียงปลาทูน่าด้วยรถยก แล้วยังจำเป็นจะต้องใช้พนักงานคอยควบคุม และจัดการเกี่ยวกับการเปิด-ปิดวาล์วน้ำ ปั๊มน้ำ รวมถึงช่างบำรุงรักษา ตลอดจนพนักงานทำความสะอาดพื้นที่ และบริเวณละลายปลา
6. ความเสี่ยงต่อการปนเปื้อน เมื่อมีการหมุนเวียนน้ำ และต้องมีการเก็บน้ำที่ล้นจากถังที่ใส่ปลาทูน่าเพื่อที่จะให้ปั๊มน้ำส่งน้ำเพื่อให้หมุนเวียนตลอดเวลา จะเห็นได้ว่าน้ำที่ล้นลงสู่พื้นแล้วไหลไปยังบ่อเก็บน้ำ ย่อมผ่านสิ่งสกปรกตามพื้นหรือสิ่งที่สะสมในสายยาง ตัวปั๊ม และนี่คือต้นเหตุของเชื้อโรค และสารตกค้างอื่น ๆ ที่จะปนเปื้อนกับตัวปลา
7. การเพิ่มภาระให้กับการบำบัดน้ำเสีย สภาวะที่เกิดจากการละลายที่มากเกินไปเนื่องจากจะต้องทำให้อุณหภูมิแกนกลางตัวปลา (Back bone Temperature) อยู่ในระดับที่ไม่น้อยกว่า -3 องศาเซลเซียส หรือสูงกว่านั้น (เป็นบวกมากขึ้น) ย่อมทำให้ในการชำแหละปลาในกระบวนการถัดไปนั้น มีเลือดปลาในพื้นที่ชำแหละปลาเป็นจำนวนมาก เลือดปลาที่ไหลปนไปกับน้ำและถูกลำเลียงไปยังระบบบำบัดน้ำเสีย จะทำให้ภาระของบ่อบำบัดน้ำเสียโดยเฉพาะค่า COD สูงขึ้น ทำให้ต้องใช้ทั้งพลังงาน และสารเคมีในการบำบัดน้ำเสียเหล่านี้
8. สภาพสุขอนามัย และความปลอดภัยของโรงงาน สภาพพื้นที่ของการละลายปลาทูน่านอกจากจะมีน้ำเจิ่งนอง ยังมีฟอง และคราบในพื้นที่ ส่งผลต่อสุขอนามัยของโรงงาน และยังทำให้พื้นที่ดังกล่าวลื่นเนื่องจากฟอง และคราบเมือกที่เกิดขึ้น ยังทำให้เกิดอุบัติเหตุทั้งจากการที่ล้อรถยกลื่น พนักงานในพื้นที่ล้ม และในพื้นที่ชำแหละปลาก็จะพบเลือดปลาไหลตามน้ำกระจายโดยทั่วไป ทำให้มีสภาพที่ไม่น่ามอง และยังเป็นตัวล่อแมลงวัน และสัตว์พาหะเข้าสู่สายการผลิต
ข้อดีในการละลายปลาแช่เยือกแข็งโดยใช้สนามไฟฟ้า
1. อุณหภูมิใกล้เคียง อุณหภูมิแกนกลางปลาที่อยู่ในถัง หลังการละลายแตกต่างกันน้อยกว่า 3 องศา
2. อณุหภูมิสม่ำเสมอ อุณหภูมิแกนกลางปลา กับผิวด้านนอกของปลาแต่ละตัว หลังการละลายไม่เกิน 4 องศา
3. รักษาสภาพได้อุณหภมูิ แกนกลางปลาจะคงที่ตลอดเวลาจนกระทั่งหยุดจ่ายไฟ
4. ประหยัดพลังงาน ใช้ไฟฟ้าเพียง 100 VA (80 วัตต์) สำหรับการละลายปลา 4 ถัง (ประมาณ 2,500 – 3,000 กิโลกรัม)
5. ประหยัดน้ำ ใช้น้ำเพียงแค่ระดับท่วมปลาในถัง
6. ถูกสุขลักษณะ ไม่มีการปนเปื้อนเพิ่ม และบริเวณผ่าปลามีน้ำเลือดน้อยกว่าวิธีละลายแบบอื่น
7. สะอาดและปลอดภัย บริเวณพื้นที่ละลายปลา แห้งตลอดเวลา ไม่ลื่น
8. ประหยัดสารเคมี ลดภาระบ่อบำบัดน้ำเสีย
เกี่ยวกับเรา
พัฒนอาสา เป็นบริษัทจดทะเบียนตั้งแต่ปี 2557 จากประสบการณ์ในการบริหารจัดการด้านวิศวกรรม ซึ่งคุ้นเคยกับปัญหาในการละลายสินค้าแช่เยือกแข็ง ด้วยวิธีการเดิม ๆ ที่ใช้กันมานานนับสิบปี ซึ่งมีประสิทธิภาพการทำงานต่ำ ไม่ว่าจะเป็น การสิ้นเปลืองทรัพยากรน้ำ ไฟฟ้า และคนงาน สิ่งสำคัญที่เป็นเหตุให้เกิดจุดเปลี่ยน คือ สินค้าที่ผ่านวิธีการละลายแบบเดิมได้รับความเสียหายในขั้นต้น และก่อให้เกิดความเสียหายมากยิ่งขึ้นเมื่อผ่านเข้าสู่กระบวนการในขั้นถัดไป
บริษัทได้ทำการวิจัยและพัฒนาโซลูชั่น ด้วยนวัตกรรม "เครื่องละลายสินค้าแช่เยือกแข็งด้วยสนามไฟฟ้า" ซึ่งสามารถแก้ปัญหาต่าง ๆ โดยยังคงทำให้คุณภาพของสินค้าหลังจากการละลายแล้วอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ ช่วยประหยัดทรัพยากรในทุกด้าน มีความปลอดภัยในการใช้งาน พื้นที่สะอาด และมีรูปแบบการใช้งานง่ายไม่ซับซ้อน
หลังจากติดตั้งครั้งแรกที่ โรงงานของบริษัท อาร์ เอส แคนเนอรี่ จำกัด ได้มีการทดสอบและเปรียบเทียบการทำงานระหว่างการละลายแบบเก่าของฝ่ายผลิต และนวัตกรรมใหม่ของพัฒนอาสา พบว่า ประสิทธิภาพของ "เครื่องละลายสินค้าแช่เยือกแข็งด้วยสนามไฟฟ้า" ทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีกว่าเดิม จึงทำให้ อาร์ เอส แคนเนอรี่ ตัดสินใจเปลี่ยนมาใช้การใช้การละลายด้วยวิธีใหม่นี้แทน
ต่อมา พัฒนอาสา ได้รับความไว้วางใจจากบริษัทผลิตสินค้าปลาทูน่าชั้นนำของโลก ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ อาทิ กลุ่มบริษัท ไทย ยูเนี่ยน ซึ่งยอมรับการทำงานของ "เครื่องละลายสินค้าแช่เยือกแข็งด้วยสนามไฟฟ้า" จึงหันมาใช้การละลายที่เราเสนอในทุกโรงงาน นอกจากนี้ ยังได้นำไปใช้กับสินค้าแช่เยือกแข็งอื่น ๆ ได้แก่ ไก่แช่แข็ง
บริษัทมีความภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จในวงการอุตสาหกรรมสินค้าแช่เยือกแข็งและสร้างประโยชน์ให้กับลูกค้าซึ่งเป็นโรงงานผลิตทั้งรายใหญ่และรายย่อย ตั้งแต่โรงงานขนาดเล็กที่มียอดการผลิต 20 ตันต่อวัน ไปจนถึงโรงงานที่มีการผลิตมากกว่า 700 ตันต่อวัน ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ
ดูข้อมูลเพิ่มเติม
บริษัท พัฒนอาสา จำกัด
https://www.pattanaasa.com/ติตตามเรา
Youtube:
Linkedin:
https://www.linkedin.com/company/pattanaasa/ Facebook:
https://www.facebook.com/PattanaAsa.th/ติดต่อเจ้าหน้าที่
Email:
info@pattanaasa.com

